งานชิ้นที่ 1
ชื่อหน่วยงาน โรงเรียนวัดท่ายาง
สถานที่ตั้ง หมู่ 2 ตำบลท่ายาง อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช
แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการนวัตกรรมและสารสนเทศของสถานศึกษา
แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการนวัตกรรมทางการศึกษา
นวัตกรรมทางการศึกษาเป็นการนำเอาสิ่งใหม่ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ก็ตามเข้ามาใช้ในระบบการศึกษา เพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเกิดแรงจูงใจในการเรียน และช่วยให้ประหยัดเวลาในการเรียน เช่น การสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การใช้วีดิทัศน์เชิงโต้ตอบ(Interactive Video) สื่อหลายมิติ (Hypermedia) และอินเตอร์เน็ต เหล่านี้เป็นต้น
ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างมาก ต่อวิธีการศึกษา ได้แก่แนวความคิดพื้นฐานทางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป อันมีผลทำให้เกิดนวัตกรรมการศึกษาที่สำคัญๆ พอจะสรุปได้ 4 ประการ คือ
1. ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Different) การจัดการศึกษาของไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลเอาไว้อย่างชัดเจนซึ่งจะเห็นได้จากแผนการศึกษาของชาติ ให้มุ่งจัดการศึกษาตามความถนัดความสนใจ และความสามารถ ของแต่ละคนเป็นเกณฑ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ การจัดระบบห้องเรียนโดยใช้อายุเป็นเกณฑ์บ้าง ใช้ความสามารถเป็นเกณฑ์บ้าง นวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อสนองแนวความคิดพื้นฐานนี้ เช่น
- การเรียนแบบไม่แบ่งชั้น (Non-Graded School)
- แบบเรียนสำเร็จรูป (Programmed Text Book)
- เครื่องสอน (Teaching Machine)
- การสอนเป็นคณะ (TeamTeaching)
- การจัดโรงเรียนในโรงเรียน (School within School)
- เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction)
2. ความพร้อม (Readiness) เดิมทีเดียวเชื่อกันว่า เด็กจะเริ่มเรียนได้ก็ต้องมีความพร้อมซึ่งเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันการวิจัยทางด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ ชี้ให้เห็นว่าความพร้อมในการเรียนเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ ถ้าหากสามารถจัดบทเรียน ให้พอเหมาะกับระดับความสามารถของเด็กแต่ละคน วิชาที่เคยเชื่อกันว่ายาก และไม่เหมาะสมสำหรับเด็กเล็กก็สามารถนำมาให้ศึกษาได้ นวัตกรรมที่ตอบสนองแนวความคิดพื้นฐานนี้ได้แก่ ศูนย์การเรียน การจัดโรงเรียนในโรงเรียน นวัตกรรมที่สนองแนวความคิดพื้นฐานด้านนี้ เช่น
- ศูนย์การเรียน (Learning Center)
- การจัดโรงเรียนในโรงเรียน (School within School)
- การปรับปรุงการสอนสามชั้น (Instructional Development in 3 Phases)
3. การใช้เวลาเพื่อการศึกษา แต่เดิมมาการจัดเวลาเพื่อการสอน หรือตารางสอนมักจะจัดโดยอาศัยความสะดวกเป็นเกณฑ์ เช่น ถือหน่วยเวลาเป็นชั่วโมง เท่ากันทุกวิชา ทุกวันนอกจากนั้นก็ยังจัดเวลาเรียนเอาไว้แน่นอนเป็นภาคเรียน เป็นปี ในปัจจุบันได้มีความคิดในการจัดเป็นหน่วยเวลาสอนให้สัมพันธ์กับลักษณะของแต่ละวิชาซึ่งจะใช้เวลาไม่เท่ากัน บางวิชาอาจใช้ช่วงสั้นๆ แต่สอนบ่อยครั้ง การเรียนก็ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น นวัตกรรมที่สนองแนวความคิดพื้นฐานด้านนี้ เช่น
- การจัดตารางสอนแบบยืดหยุ่น (Flexible Scheduling)
- มหาวิทยาลัยเปิด (Open University)
- แบบเรียนสำเร็จรูป (Programmed Text Book)
- การเรียนทางไปรษณีย์
4. ประสิทธิภาพในการเรียน การขยายตัวทางวิชาการ และการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้มีสิ่งต่างๆ ที่คนจะต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นมาก แต่การจัดระบบการศึกษาในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจึงจำเป็นต้องแสวงหาวิธีการใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งในด้านปัจจัยเกี่ยวกับตัวผู้เรียน และปัจจัยภายนอก นวัตกรรมในด้านนี้ที่เกิดขึ้น เช่น
- มหาวิทยาลัยเปิด
- การเรียนทางวิทยุ การเรียนทางโทรทัศน์
- การเรียนทางไปรษณีย์ แบบเรียนสำเร็จรูป
- ชุดการเรียน
นวัตกรรม แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 มีการประดิษฐ์คิดค้น (Innovation) หรือเป็นการปรุงแต่งของเก่าให้เหมาะสมกับกาลสมัย
ระยะที่ 2 พัฒนาการ (Development) มีการทดลองในแหล่งทดลองจัดทำอยู่ในลักษณะของโครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project)
ระยะที่ 3 การนำเอาไปปฏิบัติในสถานการณ์ทั่วไป ซึ่งจัดว่าเป็นนวัตกรรมขั้นสมบูรณ์
การนำนวัตกรรมไปใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ตัวอย่าง นวัตกรรมที่ใช้ในการสอน ได้แก่ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) เป็นนวัตกรรมที่ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการวัดผลและประเมินผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการวิจัยทางการศึกษา การวิจัยสถาบัน ด้วยการประยุกต์ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาสนับสนุนการวัดผล ประเมินผลของสถานศึกษา ครู อาจารย์ และยังเป็นการใช้นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารสนเทศมาช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อการตัดสินใจของผู้บริหารการศึกษาให้มีความรวดเร็วทันเหตุการณ์ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก นวัตกรรมการศึกษาที่นำมาใช้ทางด้านการบริหารจะเกี่ยวข้องกับระบบการจัดการฐานข้อมูลในหน่วยงานสถานศึกษา เช่น ฐานข้อมูล นักเรียน นักศึกษา ฐานข้อมูล คณะอาจารย์และบุคลากร ในสถานศึกษา ด้านการเงิน บัญชี พัสดุ และครุภัณฑ์ ฐานข้อมูลเหล่านี้ต้องการออกระบบที่สมบูรณ์มีความปลอดภัยของข้อมูลสูง นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับสารสนเทศภายนอกหน่วยงาน เช่น ระเบียบปฏิบัติ กฎหมาย พระราชบัญญัติ ที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา ซึ่งจะต้องมีการอบรม เก็บรักษาและออกแบบระบบการสืบค้นที่ดีพอซึ่งผู้บริหารสามารถสืบค้นข้อมูลมาใช้งานได้ทันทีตลอดเวลา การใช้ออกแบบระบบการสืบค้นที่ดีพอซึ่งผู้บริหารสามารถสืบค้นข้อมูลมาใช้งานได้ทันทีตลอดเวลา การใช้นวัตกรรมแต่ละด้านอาจมีการผสมผสานที่ซ้อนทับกันในบางเรื่อง ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาร่วมกันไปพร้อมๆ กันหลายด้าน การพัฒนาฐานข้อมูลอาจต้องทำเป็นกลุ่มเพื่อให้สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้อย่างประสิทธิภาพคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นเครื่องมือช่วยครูในการเรียนการสอน โดยบรรจุเนื้อหาที่จะสอนไว้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนได้ด้วยตนเอง และมีเทคนิคการสอนที่อยู่บนพื้นฐานของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับเครื่องคอมพิวเตอร์
แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการระบบสารสนเทศของสถานศึกษา
การพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานที่กำหนด มีความจำเป็นต้องใช้สารสนเทศที่ครบถ้วนสมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน เพื่อใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์และการบริหาร เพื่อการวางแผนปฏิบัติการ เพื่อการดำเนินงาน เพื่อการตรวจสอบติดตามระหว่างดำเนินการ และเพื่อการประเมินผล หลังการดำเนินงาน ระบบสารสนเทศที่จำเป็นสำหรับสถานศึกษามี 4 ระบบ ดังนี้
(1) ระบบสารสนเทศพื้นฐานของสถานศึกษา ประกอบด้วยข้อมูลและสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับศักยภาพของสถานศึกษา สภาพเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ความต้องการของชุมชน สภาพการบริหารและแนวทางการจัดการศึกษาตามโครงสร้างและภารกิจ เช่น ข้อมูลทั่วไปของสถานศึกษา ศักยภาพของสถานศึกษา ความต้องการของชุมชน แนวโน้มการพัฒนาท้องถิ่น แนวทางการจัดการศึกษา การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษา
(2) ระบบสารสนเทศเกี่ยวกับผู้เรียน ประกอบด้วยข้อมูลและสารสนเทศเกี่ยวกับผู้เรียนทั้งหมด เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน ผลงานและการแสดงออกของผู้เรียน รูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน
(3) ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารงานวิชาการ ประกอบด้วยข้อมูลและสารสนเทศเกี่ยวกับหลักสูตรและการเรียนการสอน การวัดผลและการประเมินผลการเรียน การพัฒนากิจกรรมแนะแนว การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การวิจัยในชั้นเรียน
(4) ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ประกอบด้วยข้อมูลและสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับสภาพการบริหารและการจัดการ สภาพและบรรยากาศการเรียนรู้ ทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวก การพัฒนาวิชาชีพ สุขภาพอนามัย การจัดการแหล่งเรียนรู้ การพัฒนาวิชาชีพ ความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครองและชุมชน
การนำระบบสารสนเทศไปใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า สารสนเทศได้กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนา ประเทศสำหรับในระบบการศึกษาก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลและสารสนเทศเช่นเดียวกัน โดยหน่วยงานทางการศึกษาและที่เกี่ยวข้องได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การจัดเก็บ การให้บริการและ แลกเปลี่ยนข้อมูล และสารสนเทศที่ใช้ในการกำหนดนโยบาย การวางแผนพัฒนาการศึกษา การบริหารการศึกษา และ การจัดการศึกษาให้เป็นระบบที่มีรูปแบบและมีมาตรฐานเดียวกันรวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอนในทุกระดับการศึกษา
การดำเนินงานพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษาของหน่วยงานทางการศึกษาส่วนใหญ่เป็นไปอย่างอิสระ ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ ประกอบกับขาดความพร้อมทั้งทางด้านงบประมาณ บุคลากร และอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ ต่อเชื่อมระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลปฐมภูมิ ปัญหาการจัดเก็บข้อมูลทุติยภูมิ ปัญหาการประสานงาน เครือข่าย ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ส่งผลไปถึงการจัดการศึกษา ดังนั้น โรงเรียนหรือหน่วยงานทางการศึกษา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษาและนำข้อมูลสารสนเทศเหล่านนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์
วิสัยทัศน์
ประยุกต์ใช้นวัตกรรมอย่างฉลาด เปรื่องปราดเทคโนโลยี มีสารสนเทศเชิงระบบอย่างครบวงจร
ยุทธศาสตร์
ประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ การบริหารจัดการและพัฒนาระบบสารสนเทศของสถานศึกษาอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
บริบทของสถานศึกษา
1. ข้อมูลทั่วไป
1.1 ชื่อสถานศึกษา โรงเรียนวัดท่ายาง ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลท่ายาง อำเภอทุ่งใหญ่
จังหวัดนครศรีธรรมราช รหัสไปรษณีย์ 80240 โทรศัพท์ 075 489217 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2
1.2 เปิดสอนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
2. ประวัติโดยย่อ
โรงเรียนวัดท่ายาง เดิมมีชื่อว่า “ โรงเรียนประชาบาลตำบลท่ายาง ” เป็นโรงเรียนประชาบาลแห่งแรกของตำบลท่ายาง ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลท่ายาง อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2453 เดิมอาศัยโรงธรรมศาลาวัดท่ายางเป็นสถานที่เรียน เป็นระยะเวลานานถึง 45 ปี
จนถึงปี พ.ศ. 2499 ทางราชการได้อนุมัติเงิน ก.ส.ช. จำนวน 15,000 บาท ให้จัดสร้างอาคารเรียนแบบ ป.1 ก จำนวน 3 ห้องเรียนในที่ดินโรงเรียนปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลท่ายาง สังกัดเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2 จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดการศึกษา 3 ระดับ ตามนโยบายการจัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีของรัฐบาล คือระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
ปัจจุบันโรงเรียนวัดท่ายางมีบุคลากรที่ปฏิบัติงานจริงในโรงเรียน จำนวน 50 คน เป็นผู้บริหาร 3 คน ครูประจำการ 38 คน พนักงานราชการ 5 คน ครูอัตราจ้าง 1 คน ลูกจ้างชั่วคราว (เจ้าหน้าที่บรรณารักษ์และครูผู้สอนคอมพิวเตอร์ ) 2 คน ครู/พี่เลี้ยง 1 คน และครูไปช่วยราชการ 1 คน
นอกจากนี้โรงเรียนวัดท่ายางเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ปี พ.ศ. 2544 เป็นโรงเรียนแกนนำการทำวิจัยในชั้นเรียนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2 เป็นที่ตั้งของศูนย์เครือข่ายการศึกษา 10 ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2 เป็นโรงเรียนพัฒนาศูนย์เด็กเล็กปฐมวัยต้นแบบประจำอำเภอ ปี พ.ศ. 2548 ในปี พ.ศ. 2550 เป็นโรงเรียนโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการกระจายอำนาจ ในปี พ.ศ. 2551 ได้รับการรับรองให้เป็นต้นแบบโรงเรียนดีใกล้บ้าน (1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน รุ่นที่ 2) และได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนแกนนำการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในปีการศึกษา 2552 เป็นต้นไป
คำขวัญ
“จริยธรรมเบ่งบาน วิชาการก้าวหน้า บุคลากรพัฒนา ปวงประชาร่วมใจ”
นโยบายของโรงเรียนวัดท่ายาง
1. จัดการศึกษาให้เด็กก่อนวัยเรียนทุกคนในเขตบริการของโรงเรียน ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ มีพัฒนาการด้านร่างกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์และสังคมเหมาะสมกับวัย มีความพร้อมในการเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาต่อไป
2. จัดการศึกษาแก่เด็กที่มีอายุในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ ได้เข้าเรียนจนจบตามหลักสูตรทุกคน พร้อมทั้งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี คนเก่งและสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
3. จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ให้ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรม มีทักษะวิชาสามัญ วิชาชีพ มีความสามารถในการจัดการและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ตลอดจนส่งเสริมให้นักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาตอนต้นทุกคนได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น
4. พัฒนาระบบการเรียนการสอนให้เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนตามหลักสูตร โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข นำภูมิปัญญาและแหล่งเรียนรู้ในชุมชนเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษา รวมทั้งจัดการศึกษาให้สนองและสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น
5. นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านต่างๆ มาใช้ในการจัดการศึกษาอย่างกว้างขวาง
6. บริหารจัดการเชิงระบบและมุ่งผลสัมฤทธิ์ตามแนวทางการกระจายอำนาจทางการศึกษา เพื่อนำโรงเรียนสู่มาตรฐานตามระบบการประกันคุณภาพการศึกษา
สภาพปัญหาหรือสิ่งที่ต้องการพัฒนา
สภาพปัญหาและสิ่งที่ต้องการพัฒนาด้านนวัตกรรมทางการศึกษา
สภาพปัญหา
1. ปัญหาด้านบุคลากร คือบุคลากรบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจและความชำนาญในการผลิตและใช้สื่อนวัตกรรมทางการศึกษาประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
แนวทางแก้ไข คือ สร้างความตระหนักให้บุคลากรเห็นถึงความสำคัญของการผลิตและการใช้สื่อ นวัตกรรมประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญทั้งในฐานะที่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย คือพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และในฐานะที่สื่อ นวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืนและถาวร
2. ปัญหาด้านการขาดแคลนห้องเรียนและห้องพิเศษสำหรับการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้สื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เนื่องจากจำนวนนักเรียนมีมากและเพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงส่งผลให้ขาดแคลนห้องเรียนและห้องพิเศษดังกล่าว แนวทางการแก้ไข คือ สถานศึกษาร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแผนเพื่อจัดการบริหารด้านอาคารสถานที่ให้สามารถเอื้อและอำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ
สิ่งที่ต้องการพัฒนา
1. การเพิ่มศักยภาพในการผลิต การใช้สื่อ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาที่ทันสมัยและมีคุณภาพให้แก่บุคลากรในโรงเรียน
2. การจัดหา สร้างห้องปฏิบัติการทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาที่มีคุณภาพและเพียงพอ
สภาพปัญหาและสิ่งที่ต้องการพัฒนาด้านสารสนเทศทางการศึกษา
สภาพปัญหา
1. ขาดแคลนสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ที่ทันสมัยในการรวบรวม ประมวลผลและจัดเก็บสารเทศของโรงเรียนอย่างเป็นระบบและมีคุณภาพ
2. บุคลากรขาดความชำนาญในการรวบรวม ประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศของสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ
สิ่งที่ต้องการพัฒนา
1. การสรรหาสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ที่ทันสมัยในการรวบรวม ประมวลผลและจัดเก็บสารเทศของโรงเรียนอย่างเป็นระบบและมีคุณภาพ ที่เพียงพอ
2. สร้างความตระหนัก พัฒนาบุคลากรอย่างหลากหลายแนวทางเพื่อให้บุคลากรมีความรู้ ความสามารถ มีความชำนาญในการรวบรวม ประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศของสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ
ผู้ให้ข้อมูล นางสาวจุติมา นาควรรณ
หน่วยงาน โรงเรียนวัดท่ายาง สพท.นศ.2
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2552
3 Comments:
-
- apichatwat53 said...
1 ธันวาคม 2552 เวลา 05:50อ่านแล้วครับ- ไม่ระบุชื่อ said...
6 ธันวาคม 2552 เวลา 03:06ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก- Siriwan Kwansakulvivat Maneechote said...
10 ธันวาคม 2552 เวลา 10:18ดีมากคะ ให้มีผู้ติดตามด้วย จะได้คะแนนเพิ่มอีก